เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ [2. อนุปทวรรค] 7. มหาจัตตารีสกสูตร

สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร
คือ ความเห็นว่า ‘ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงที่
เซ่นสรวงแล้วมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี
มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติ
ชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็มีอยู่ในโลก’
นี้เป็นสัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ
สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค
เป็นอย่างไร
คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิ
องค์แห่งมรรคของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วย
อริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็น
โลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ ยัง
สัมมาทิฏฐิให้ถึงพร้อม ความพยายามของภิกษุนั้น เป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้น
มีสติ ละมิจฉาทิฏฐิ มีสติเข้าถึงสัมมาทิฏฐิอยู่ สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ
ธรรม 3 นี้ คือ (1) สัมมาทิฏฐิ (2) สัมมาวายามะ (3) สัมมาสติ ย่อม
ห้อมล้อมคล้อยตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้
[137] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ 7 นั้น สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า
สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุรู้ชัดมิจฉาสังกัปปะว่า ‘เป็นมิจฉาสังกัปปะ’ รู้ชัดสัมมาสังกัปปะว่า
‘เป็นสัมมาสังกัปปะ’ ความรู้ของภิกษุนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในกาม ความดำริในความพยาบาท ความดำริในการเบียดเบียน
นี้เป็นมิจฉาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 14 หน้า :176 }